เมาค้าง เป็นเพราะอะไร? ข้อมูล สาเหตุ และยาแก้เมาเหล้าเคล็ดลับแก้เมาค้างทำไมถึงเกิดอาการเมาค้าง?
แอลกอฮอล์เป็นสารที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ หมายความว่ามันสามารถไล่สารน้ำออกจากร่างกายได้ การสูญเสียสารน้ำนั้นรวมถึงการสูญเสียเกลือที่สำคัญ เช่น โพแทสเซียมและแมกนีเซียม นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดก็ยังเกิดการเปลี่ยนแปลง และสารพิษจากแอลกอฮอล์ก็ยังอาจจะยังตกค้างอยู่ในร่างกายได้หลายชั่วโมง ภายหลังจากหยุดดื่มแล้ว การสูญเสียเกลือที่สำคัญเหล่านี้และการขาดน้ำนำไปสู่ภาวะเมาค้าง
การลดอาการเมาค้าง
ชนิดของแอลกอฮอล์ที่คุณดื่มนั้นทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน เครื่องดื่มที่ยิ่งเข้มและยิ่งหวานจะมีสารคอนเจเนอร์ (Congeners) หรือสารอินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยเมทานอลที่มากขึ้น ดังนั้นบรั่นดี ไวน์แชร์รี (Sherry) ไวน์แดง และวิสกี้ จึงทำให้เกิดอาการเมาค้างได้มากกว่าไวน์ขาวและวอดคา ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูกมักผ่านการแปรรูปน้อย และอาจทำให้คุณมีอาการเมาค้างได้มากขึ้น
วิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันและลดอาการเมาค้างก็คือ รับประทานอาหารไปควบคู่กับการดื่มแอลกอฮอล์และดื่มน้ำมากๆ
การถอนอาการเมาค้าง
การดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมนั้นสามารถช่วยได้ เนื่องจากสารเอทานอลในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยับยั้งการสลายเมทานอลให้กลายเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และกรดฟอร์มิก (Formic Acid)
อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อถอนอาการเมาค้างเป็นวิธีบรรเทาอาการเมาค้างที่แย่ เนื่องจากจะยิ่งทำให้ตับและกระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการเมาค้างในเวลาถัดมาได้อีกซึ่งอาจมีอาการหนักกว่าครั้งแรกที่เป็นได้
สูตรเครื่องดื่มชนิดไม่มีแอลกอฮอล์ที่ช่วยแก้อาการเมาค้าง
ผสมน้ำมันมะกอก 1 ส่วน ไข่แดงดิบ 1 ฟอง เกลือและพริกไทย ซอสมะเขือเทศ 1-2 ช้อนโต๊ะ ซอสทาบาสโก (Tabasco) วูสเตอร์ซอส (Worcestershire Sauce) และน้ำมะนาว (หรือน้ำส้มสายชู) เล็กน้อยเข้าด้วยกัน
ไข่แดงมีสาร N-Acetyl-Cysteine (NAC) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยในการขับสารพิษที่ได้จากแอลกอฮอล์และควันบุหรี่ ซอสมะเขือเทศให้สารไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) ซึ่งเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน หากคุณไม่สามารถแก้อาการเมาค้างได้โดยไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ให้ผสมสูตรดังกล่าวเข้ากับวอดคาเพราะวอดคามีการเติมสารต่างๆ น้อยกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับแก้อาการเมาค้าง
ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยสองเท่าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
รับประทานวิตามินซีเล็กน้อย
การรับประทานกล้วย จะช่วยชดเชยเกลือที่หายไปได้
รับประทานน้ำตาลเล็กน้อย เพราะแอลกอฮอล์จะลดระดับน้ำตาลในเลือด
รับประทานยาแก้ปวด โดยควรหลีกเลี่ยงแอสไพรินและยากลุ่มพาราเซตามอล เนื่องจากแอลกอฮอล์มักจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารของคุณไวต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น และในกลุ่มยาพาราเซตามอลอาจทำให้ตับทำงานหนักเกินไป จนเกิดผลเสียระหว่างที่ร่างกายมีการขับแอลกอฮอล์อยู่
นอนหลับพักผ่อน โดยแค่งีบไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว แต่อย่าขับรถจนกว่าคุณจะรู้สึกว่ากลับมาเป็นปกติจริงๆ
ควรทราบว่าไม่มีอะไรสามารถเร่งกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นได้ และอย่าหลอกตัวเองว่าการดื่มกาแฟเข้มๆ จะช่วยให้อาการดีขึ้นจนเป็นปกติ เพราะที่จริงมันทำได้แค่ชดเชยสารน้ำที่สูญเสียไปเพียงเล็กน้อย