โรคไต กับสมุนไพรบำบัดโรคไตเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา มีความเชื่อมากมายที่ว่าการบริโภคสมุนไพรบางชนิดอาจช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคไตได้ โดยมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์แง่มุมดังกล่าวมาแต่อดีตจนปัจจุบัน และมีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนที่อ้างถึงคุณประโยชน์ทางการบำบัดโรคไตด้วยสมุนไพรบางอย่าง ดังต่อไปนี้
สมุนไพรรักษาโรคไต
โกจิเบอร์รี่
โกจิเบอร์รี่ (Goji Berry) หรือเก๋ากี้ เป็นพืชพื้นเมืองประเทศจีน ผลมีสีแดงสด อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ เส้นใยอาหาร ธาตุเหล็ก ซิงค์ สารต้านอนุมูลอิสระ และกรดอะมิโนจำเป็น บางคนเชื่อว่าโกจิเบอร์รี่เป็นยาอายุวัฒนะช่วยให้อายุยืนยาว บำรุงสุขภาพ หรืออาจเป็นยารักษาโรคได้ จึงมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของโกจิเบอร์รี่ต่อการรักษาโรคไตเช่นกัน
มีงานค้นคว้าหนึ่งใช้สารโพลีแซคคาไรด์ที่ได้จากโกจิเบอร์รี่ทดลองในหนูที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดความเสียหายของเซลล์เนื้อเยื่อในไตที่เกิดจากยาชนิดหนึ่งได้ ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการป้องกันการเกิดความเสียหายในไตจากโรคเบาหวาน
เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองใช้สารโพลีแซคคาไรด์จากโกจิเบอร์รี่ในกระต่ายที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าสารนี้ช่วยป้องกันภาวะไตทำงานผิดปกติ และชะลอการเกิดโรคไตที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานได้
นอกจากนี้ ยังมีงานทดลองอีกจำนวนหนึ่งที่พบว่า สารโพลีแซคคาไรด์ในโกจิเบอร์รี่ช่วยป้องกันความเสียหายของไตด้วยการลดการเกิดอนุมูลอิสระจากการสลายไขมัน และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระภายในเนื้อเยื่อไตของหนูทดลอง ซึ่งอาจนำผลลัพธ์นี้ไปพัฒนาการรักษาโรคไตด้วยโกจิเบอร์รี่ในอนาคตได้
แม้มีการค้นพบประสิทธิผลในการรักษาและป้องกันโรคไตของสารสกัดในโกจิเบอร์รี่ แต่งานค้นคว้าเหล่านั้นล้วนเป็นงานทดลองในสัตว์ ซึ่งควรมีการทดลองในคนเพื่อศึกษาประสิทธิภาพที่แน่ชัดของโกจิเบอร์รี่ ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อป้องกันการเกิดโรคไต หรือรักษาผู้ป่วยโรคไตได้จริงในอนาคต
จนกว่าจะมีการยืนยันทางการแพทย์ที่แน่ชัดในด้านสรรพคุณและปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานโกจิเบอร์รี่ ผู้บริโภคควรรับประทานในปริมาณที่พอดี โดยการรับประทานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย แต่ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ เพราะผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดก็ควรระมัดระวังในการรับประทานโกจิเบอร์รี่ เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น
ขิง
ขิง มักนำมาปรุงอาหาร เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่ม สบู่ และเครื่องสำอาง และเชื่อว่าขิงอาจเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์รักษาโรคหลายชนิดรวมทั้งโรคไตได้ด้วย โดยมีงานค้นคว้าจำนวนหนึ่งที่ทดลองใช้สารสกัดจากขิงกับหนูทดลอง พบว่า สารสกัดดังกล่าวช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่ไตได้โดยยับยั้งสารก่อการอักเสบ
แม้มีงานทดลองที่ค้นพบประสิทธิภาพดังกล่าว แต่งานเหล่านั้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ซึ่งยังไม่อาจนำผลทดลองมายืนยันประโยชน์ทางการรักษาโรคไตในคนได้ จึงควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคไตในอนาคต
นอกจากนี้ การบริโภคขิงอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง มีแก๊สในกระเพาะ แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย และอาจมีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติในผู้หญิงบางราย จึงควรระมัดระวังในการบริโภคขิงเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคขิงและผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ทำจากขิง
ผักชี
ผักชีอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารและสารโภชนาการต่าง ๆ โดยเชื่อว่าผักชีอาจช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและย่อยอาหาร รักษาโรคผิวหนังบางชนิด มีฤทธิ์ต้านเชื้อราหรือแบคทีเรีย รวมทั้งอาจรักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของไตได้ด้วย
จากงานวิจัยเก่าชิ้นหนึ่งที่ให้หนูทดลองบริโภคผักชีแล้วดื่มน้ำที่มีสารตะกั่วเป็นเวลา 32 วัน พบว่าสารในผักชีช่วยลดการสะสมของตะกั่วที่กระดูกและอาจช่วยลดการเกิดความเสียหายของไตจากสารตะกั่วได้ ในขณะที่มีงานวิจัยอีกชิ้นในยุคถัดมาซึ่งทดลองใช้สารสกัดจากผักชีเพื่อรักษาหนูทดลองที่มีภาวะไตได้รับพิษจากยาชนิดหนึ่ง พบว่าสารฟลาโวนอยด์และโพลีฟีนอลในผักชีอาจช่วยรักษาและป้องกันการเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อในไตได้
อย่างไรก็ตาม งานทดลองข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองประสิทธิผลที่ชัดเจนในคนต่อไป และแม้ผักชีเป็นพืชที่คนบริโภคทั่วไปโดยไม่ทำให้เกิดอันตราย ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ผักชีก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางรายได้เช่นกัน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานผักชีในปริมาณพอดี และคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อายุ สุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วยและโรคประจำตัว โดยควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ หากต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผักชี
เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือมีสารประกอบที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดอย่างแคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เซเลเนียม ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง เป็นต้น จึงเชื่อว่าเห็ดหลินจืออาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตลอดจนอาจช่วยรักษาและป้องกันโรคบางชนิด รวมถึงโรคไตได้ด้วยเช่นกัน
มีงานค้นคว้าในอดีตซึ่งใช้น้ำร้อนผสมสารสกัดจากเห็ดหลินจือทดสอบปฏิกิริยาในตับและไตของหนูทดลอง พบว่าเห็ดหลินจืออาจช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายของตับและไตจากแอลกอฮอล์ได้ และจากการศึกษาสารประกอบของเห็ดหลินจือในห้องปฏิบัติการในยุคถัดมา พบว่าสารบางชนิดในเห็ดหลินจือช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายในไตจากยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่งได้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระและยับยั้งกระบวนการอักเสบ
อย่างไรก็ตาม งานทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลอง ตัวอย่างสารและเซลล์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงควรค้นคว้าเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นโดยทำการทดลองในคนด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ชัดเจนและสามารถนำเห็ดหลินจือไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตได้จริงต่อไป
แม้เห็ดหลินจือมีสารโภชนาการที่ให้คุณและอาจบำรุงสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้ แต่ผู้บริโภคก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหลินจือ ระมัดระวังในด้านปริมาณและรูปแบบเห็ดหลินจือที่บริโภค และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภคเสมอ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรบริโภคเห็ดชนิดนี้รวมถึงอาหารต่าง ๆ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ
เห็ดหอม
เห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะมีสารโภชนาการมากมาย เช่น เส้นใยอาหาร วิตามินบี คาร์โบไฮเดรต โปรตีน สังกะสี แมกนีเซียม และวิตามินดี หลายคนเชื่อว่าการรับประทานเห็ดชนิดนี้ดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก และอาจรักษาหรือป้องกันโรคไตได้
มีการค้นคว้าให้หนูทดลองรับประทานสารที่มีส่วนผสมของโพลีแซคคาไรด์ที่สกัดจากเห็ดหอม หรือฉีดสารดังกล่าวเข้าช่องท้องของหนูทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าสารนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายและการอักเสบในไต ตับ และปอดจากสารพิษของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ส่วนการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาปฏิกิริยาของสารเลนติแนนที่สกัดจากเห็ดหอมในตัวอย่างเซลล์ของหนูทดลอง พบว่าสารดังกล่าวช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายกับไตจากยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่งได้อย่างมีนัยสำคัญ
การวิจัยข้างต้นอาจแสดงถึงประสิทธิผลของเห็ดหอมต่อการรักษาและป้องกันโรคไต แต่งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์และตัวอย่างเซลล์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงควรศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้เห็ดหอมในการรักษาโรคไตในคน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ต่อไป
เห็ดหอมเป็นอาหารที่คนนิยมบริโภคกันทั่วไป และไม่ทำให้เกิดอันตรายหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากบริโภคในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อหวังประโยชน์เชิงการรักษา เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากเห็ดหอม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ผิวหนังอักเสบ มีอาการแพ้ และหายใจลำบาก ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการรับประทานเห็ดหอม ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนรับประทานเห็ดหอมหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากเห็ดหอมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง และภาวะเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลสูงผิดปกติ เป็นต้น
สมุนไพรรักษาโรคไต ปลอดภัยหรือไม่ และรักษาได้จริงหรือ ?
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดระบุว่าสมุนไพรต่าง ๆ รักษาหรือป้องกันโรคไตได้ ผู้บริโภคจึงควรรับประทานพืชแต่ละชนิดเป็นอาหารในปริมาณที่พอดี เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากเป็นสมุนไพรในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดก่อนบริโภคเสมอ และควรระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้บริโภคที่กำลังมีปัญหาสุขภาพ
ส่วนผู้ป่วยโรคไต ควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดี เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานอาหารแต่ละชนิดด้วยความระมัดระวัง โดยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่ควรรับประทานหรือควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งการบริโภคสมุนไพรต่าง ๆ ด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย ควบคุมอาการป่วย และป้องกันอาการกำเริบ