หมอประจำบ้าน: ภาวะไตวาย (Renal failure)ภาวะไตวาย (ไตล้ม ไตไม่ทำงาน ก็เรียก) หมายถึงภาวะที่เนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของอิเล็กโทรไลต์ และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่อาการผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย
ภาวะไตวายสามารถแบ่งเป็น ไตวายเฉียบพลัน (มีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นวันและเป็นสัปดาห์) กับ ไตวายเรื้อรัง (ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อยนานเป็นแรมเดือนแรมปี)
โรคนี้จัดเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไตวายเรื้อรัง จะพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคติดเชื้อ เป็นต้น) ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อไต หรือมีการใช้ยาที่มีพิษต่อไตมากขึ้น
สาเหตุ
ไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) อาจมีสาเหตุมาจากโรคไตโดยตรงหรือภาวะผิดปกติที่อยู่นอกไต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตก็ได้ เช่น
ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่น การตกเลือด การสูญเสียน้ำ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
โรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงรุนแรง
การติดเชื้อรุนแรง เช่น มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรซิส ภาวะโลหิตเป็นพิษ
โรคไต เช่น หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
ความผิดปกติของหลอดเลือดในไต เช่น หลอดเลือดแดงไตตีบ (renal artery stenosis) ภาวะมีสิ่งหลุดอุดตันในหลอดเลือดแดงไต (renal embolism)
การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ท่อไตถูกผูกโดยความเผอเรอจากการผ่าตัดในช่องท้อง ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
งูพิษกัด เช่น งูแมวเซาหรืองูทะเลกัด
ต่อต่อย ผึ้งต่อย
ผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านเอซ ซัลฟา คาน่าไมซิน เจนตาไมซิน อะมิคาซิน ไซโคลสปอรีน แอมโฟเทอริซินบี สารไอโอดีนที่ใช้ฉีดในการตรวจเอกซเรย์พิเศษ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด
อื่น ๆ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตับวาย
ไตวายเรื้อรัง (chronic renal failure) ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง
อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง เช่น หน่วยไตอักเสบ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตเนโฟรติก นิ่วไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง*
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากโรคเกาต์ เอสแอลอี ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคเอดส์ พิษจากยา (เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้-เฟนาซิติน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ลิเทียมไซโคลสปอรีน ยาต้านมะเร็ง เป็นต้น) พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น
*ถุงน้ำไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney) มีลักษณะเป็นถุงน้ำ (cyst) จำนวนมากซึ่งพบที่ไตทั้ง 2 ข้าง เป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิดซึ่งถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถุงน้ำจะค่อย ๆ โตขึ้นเบียดเนื้อไตที่ปกติจนไตทำหน้าที่ผิดปกติ ซึ่งมักปรากฏอาการแสดงของโรคเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีภาวะความดันโลหิตสูง มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ (รวมทั้งภายในถุงน้ำ) บ่อย และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในที่สุด
อาการ
ไตวายเฉียบพลัน อาการเด่นชัด คือ มีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 มล. ใน 24 ชั่วโมง หรือไม่มีปัสสาวะออกเลย (ไม่มีอาการปวดปัสสาวะ และสวนปัสสาวะก็ไม่มีปัสสาวะออกมากกว่านี้) ต่อมาไม่นานผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการซึม สับสน ชัก และหมดสติ
ผู้ป่วยอาจมีประวัติการใช้ยาหรือมีอาการเจ็บป่วยนำมาก่อน เช่น ไข้ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ งูกัด ต่อต่อย ตกเลือด ภาวะช็อกจากสาเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
ไตวายเรื้อรัง อาการขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับครีอะตินีนและบียูเอ็นสูง) ในขณะตรวจเช็กสุขภาพ หรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น
ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า
บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก หมดสติ
ภาวะแทรกซ้อน
ไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือด (hypervolemia) เป็นผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวายตามมา
นอกจากนี้ยังเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อยลง) อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้ ภาวะเลือดเป็นกรด (เนื่องจากขับกรดที่ได้จากการเผาผลาญโปรตีนได้น้อยลง) ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง (เช่น ซึม ชัก) เนื่องจากภาวะยูรีเมีย (uremia) ภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเกล็ดเลือดไม่จับตัว ทำให้มีเลือดออกง่าย อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เกิดจากการคั่งของสารบียูเอ็น (บียูเอ็นมากกว่า 100 มก./ดล.) จะมีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอก ภาวะติดเชื้อง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษตามมา
ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงไม่มาก ได้แก่ ภาวะซีดเนื่องจากไตสร้างสาร อีริโทรพอยเอทิน (erythropoietin) ไม่ได้ สารนี้มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดก็ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดี ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการมือจีบเกร็ง เป็นตะคริว ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง ภาวะยูริกในเลือดสูง
ไตวายเรื้อรัง นอกจากจะพบภาวะแทรกซ้อนแบบเดียวกับไตวายเฉียบพลันแล้ว ยังอาจพบปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ (ชาปลายมือปลายเท้า) โรคกระเพาะ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน (hyperparathyroidism) ภาวะกระดูกอ่อน (osteomalacia) ต่อมอัณฑะทำงานน้อย ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (องคชาตไม่แข็งตัว) ประจำเดือนผิดปกติ หรือประจำเดือนขาด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
ไตวายเฉียบพลัน อาจตรวจไม่พบอะไร นอกจากอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่น ความดันต่ำและชีพจรเร็วในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก อาการดีซ่านในผู้ป่วยโรคตับ ไข้ในผู้ป่วยมาลาเรียหรือโรคติดเชื้อ เป็นต้น)
บางรายอาจพบอาการซีด หายใจหอบลึก ความดันโลหิตสูง มือจีบเกร็งหรือเป็นตะคริว หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียกรอบแกรบ (crepitation)
ในระยะท้าย อาจพบอาการซึม ชัก หมดสติ
ไตวายเรื้อรัง จะมีสิ่งตรวจพบเมื่อเป็นโรคในระยะรุนแรงมากแล้ว ได้แก่ อาการซีด ความดันโลหิตสูง ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ จุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
บางรายอาจพบอาการเท้าบวม (กดบุ๋ม) ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (พบระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนสูงกว่าปกติ ยิ่งสูงมากก็แสดงว่าโรคยิ่งรุนแรง ระดับโพแทสเซียมฟอสเฟตและแมกนีเซียมสูง ระดับแคลเซียมต่ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด ระดับฮีโมโกลบินต่ำ) ตรวจปัสสาวะ (พบสารไข่ขาว น้ำตาล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และตรวจพิเศษอื่น ๆ บางรายอาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อไต (renal biopsy) โดยการเจาะเอาเนื้อเยื่อไตไปตรวจ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ไตวายเฉียบพลัน แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ และแก้ไขภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น จำกัดปริมาณของน้ำ โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโปรตีน ฉีดยาขับปัสสาวะ-ฟูโรซีไมด์ ให้โซเดียมไบคาร์บอเนต แก้ภาวะเลือดเป็นกรด ให้เลือดในรายที่ตกเลือด เป็นต้น
ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis)
ผลการรักษาขึ้นกับสาเหตุที่พบ ถ้าเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง โรคติดเชื้อ พิษจากยาบางชนิด ก็อาจมีทางรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะไตวายเฉียบพลันมักเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จึงมีโอกาสเป็นอันตรายถึงตายได้ค่อนข้างสูง
2. ไตวายเรื้อรัง ถ้ามีสาเหตุชัดเจนก็ให้รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่น ให้ยาควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น)
นอกจากนี้ ยังต้องรักษาภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากไตวาย เช่น
จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ 40 กรัม (ไข่ไก่ 1 ฟอง มีโปรตีน 6-8 กรัม นมสด 1 ถ้วย มีโปรตีน 8 กรัม เนื้อสัตว์ 1 ขีด มีโปรตีน 23 กรัม)
จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณ 800 มล./วัน) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ 600 มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ 600 มล.+800 มล. (รวมเป็น 1,400 มล./วัน) เป็นต้น
จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มล./วัน ควรงดอาหารเค็ม งดใช้เครื่องปรุง (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี้ยบ
จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มล./วัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เช่น อะมิโลไรด์ (amiloride) ไตรแอมเทอรีน (triamterene) สไปโรโนแล็กโทน (spironolactone) ยาต้านเอซ ยาที่เข้าสารโพแทสเซียม เป็นต้น
จำกัดปริมาณแมกนีเซียมที่กิน ด้วยการงดยาลดกรดที่มีเกลือแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
ถ้ามีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือภาวะเลือดเป็นกรด ให้กินยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต (650 มก.) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
ถ้าบวม ให้ยาขับปัสสาวะ-ฟูโรซีไมด์
ถ้ามีความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย ก็ให้ยารักษาภาวะเหล่านี้
ถ้าซีด อาจต้องให้เลือด บางรายแพทย์อาจสั่งให้ฉีดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (ยานี้มีราคาแพง และอาจทำให้ความดันโลหิตสูง)
สำหรับผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะท้าย (มักมีระดับครีอะตินีนและบียูเอ็นในเลือดสูงเกิน 10 และ 100 มก./ดล. ตามลำดับ) การรักษาทางยาจะไม่ได้ผล จำเป็นต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis) ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ได้แก่
การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis/CAPD) วิธีนี้แพทย์สามารถฝึกให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้านได้ นับว่าสะดวก แต่ต้องทำการเปลี่ยนถุงน้ำยาวันละ 4 ครั้ง ทุก ๆ วันตลอดไป และแพทย์จะนัดมาเปลี่ยนสายน้ำยาที่ใช้ฟอกล้างของเสียทุก 1 เดือน ผู้ป่วยสามารถทำงานและปฏิบัติภารกิจได้เหมือนคนปกติ
การล้างไตโดยการฟอกเลือด (hemodialysis) นิยมเรียกว่า การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม หรือการทำไตเทียม ผู้ป่วยต้องไปทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
การทำการล้างไตทั้ง 2 วิธี จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี (สามารถทำงาน ออกกำลังกาย และมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นคนปกติ) มีชีวิตยืนยาวขึ้น บางรายอาจอยู่ได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายบางราย แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไต (renal transplantation) ซึ่งนับว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ และมีอายุยืนยาว (อายุการทำงานของไตใหม่ ร้อยละ 18-55 อยู่ได้นาน 10 ปี) แต่การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีรักษาที่ยุ่งยาก ราคาแพง และจะต้องหาไตจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้าได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ป่วยอาจต้องทำการล้างไตไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาไตที่เข้ากันได้ นอกจากนั้นภายหลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น สเตียรอยด์ ไซโคลสปอริน อะซาไทโอพรีน) ทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ตามปลายมือปลายเท้าเป็นตะคริว เท้าบวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เกาต์ โรคไต) หรือมีประวัติใช้ยาแก้ปวด หรือแก้ข้ออักเสบมานาน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไตวาย ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีพิษต่อไต หรืออาจต้องปรับลดขนาดยาลงจากที่ใช้ในคนปกติ รวมทั้งไม่ควรกินยาหม้อหรือยาต้มที่ประกอบด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง การใช้ยาเองอย่างผิด ๆ อาจทำให้เกิดอันตราย
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจหอบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เท้าบวม เป็นตะคริว ซึม ชัก มีเลือดออก หรือมีอาการไม่สบาย (เช่น ไข้ ปวดท้อง ท้องเดิน เป็นต้น)
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. ตรวจเช็กดูว่าเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคเกาต์หรือไม่ ถ้าเป็นต้องรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องทำการรักษาให้หายขาด
3. เมื่อป่วยเป็นโรคติดเชื้อ งูกัด หรือท้องเดิน ต้องรีบรักษา อย่าปล่อยจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งมีผลทำให้ไตวายตามมาได้
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อไต และระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีเลือดไปเลี้ยงไตไม่ดี (เช่น ตับแข็ง หัวใจวาย หลอดเลือดแดงไตตีบ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง)
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรติดต่อกับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัว รวมทั้งการควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวต่อไปอีกนาน
2. ไตวายเป็นภาวะที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อร่างกาย ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะมีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองในการรักษา ดังนั้น จึงควรหาทางป้องกันมิให้เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรรักษาตัวอย่างจริงจังจนสามารถควบคุมโรคได้ จะได้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นไตวายแทรกซ้อน
3. การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน จึงควรรณรงค์ให้ผู้คนทั่วไปหันมาบริจาคไตกันให้มากขึ้น จะได้มีไตบริจาคช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติ
คุณสมบัติของผู้ป่วยที่จะรับการปลูกถ่ายไต
อายุไม่เกิน 55 ปี ถ้าอายุมากการผ่าตัดมักจะไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากหลอดเลือดแข็ง
ไม่มีโรคที่สำคัญ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคมะเร็ง เป็นต้น
ไม่เป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากหลังปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน อาจทำให้โรคติดเชื้อลุกลามรุนแรงได้
มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เพราะหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง จึงต้องพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
มีความมุ่งมั่นในการรักษาสุขภาพให้ดี และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินยาอย่างเคร่งครัด