ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute pyogenic arthritis)  (อ่าน 46 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 448
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute pyogenic arthritis)
« เมื่อ: วันที่ 30 มิถุนายน 2024, 23:21:05 น. »
ตรวจโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute pyogenic arthritis)

ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (acute pyogenic arthritis) เป็นภาวะรุนแรงซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้ข้อพิการได้

โรคนี้ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะแบคทีเรีย เช่น เชื้อหนองใน สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส เมนิงโกค็อกคัส เป็นต้น เชื้อโรคเหล่านี้อาจเข้าไปในข้อโดยตรง (เช่น จากบาดแผลที่บริเวณข้อ) หรือลุกลามจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือดเข้าไปในข้อ

อาการ

เกิดขึ้นฉับพลันทันทีด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ข้อบวม แดง ร้อนและปวดมาก มักเป็นเพียง 1-2 ข้อใหญ่ ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า เป็นต้น บางรายอาจมีอาการปวดตามข้อต่าง ๆ นำมาก่อนหลายวัน

ผู้ป่วยอาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลที่บริเวณข้อ หรือมีโรคติดเชื้อของส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอยู่ก่อน เช่น เป็นฝี หนองใน คออักเสบ ปอดอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อบุมดลูกอักเสบ เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาเชื้ออาจเข้ากระแสเลือดเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือทำให้ข้อพิการได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบไข้ ข้อบวมแดงร้อน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ข้อและเจาะดูดหนองจากข้อไปตรวจหาเชื้อ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ

อาจต้องเจาะระบายหนองออกบ่อย ๆ

นอกจากนี้ต้องให้ผู้ป่วยนอนพัก ยกข้อที่อักเสบให้สูงไว้ และอาจต้องเข้าเฝือกไม่ให้ข้อเคลื่อนไหว เมื่ออาการอักเสบเริ่มทุเลา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารข้อเพื่อป้องกันข้อแข็งหรือพิการ

ผลการรักษา ถ้าเลือกให้ยาปฏิชีวนะได้ถูกต้อง ผู้ป่วยมักจะหายได้ภายใน 7-10 วัน โดยไม่มีร่องรอยของความพิการ แต่ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้องข้ออาจพิการได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น  มีไข้สูงร่วมกับข้ออักเสบ บวมแดงร้อน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้าหลังกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรกลับไปพบแพทย์


การป้องกัน

อาจป้องกันด้วยการระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่บริเวณข้อ และถ้ามีบาดแผลหรือเป็นโรคติดเชื้อที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ควรรีบไปรับการรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง


ข้อแนะนำ

โรคนี้มีความรุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาที่กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น หากสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว